guideubon

 

ยุคทองของเมืองอุบลราชธานี พ.ศ.2436-2453

ยุคทองเมืองอุบล-สรรพสิทธิ-01.jpg

นับแต่พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) พร้อมคณะได้มาตั้งหลักปักฐานสร้างบ้านแปงเมือง อุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราช แล้ว ถือได้ว่าเป็นยุคทองยุคแรกของเมืองอุบล กระทั่งถึงยุคสมัยที่ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ประทับที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลา 17 ปี ได้ทรงปรับปรุง พัฒนาเมืองอุบลราชธานีแทบทุกๆ ด้าน ความเจริญหลายๆ อย่างที่ปรากฎในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นการริเริ่มมาจากพระองค์ท่านแทบทั้งสิ้น จัดว่าเป็น ยุคทองของเมืองอุบลราชธานี เป็นยุคที่สอง

พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (พระองค์เจ้าชายชุมพลสมโภช) ประสูติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2400 นับเป็นพระโอรสพระองค์ที่ 37 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 3 (พระองค์สุดท้าย) ในเจ้าจอมมารดาพึ่ง

ขณะที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงดำรงตำแหน่ง "ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว" (เปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลอีสาน เมื่อ พ.ศ.2443) ประทับที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลานาน 17 ปี ได้ปรบปรุง พัฒนาเมืองอุบลราชธานีในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการปกครอง การทหาร การศึกษา การศาล การเก็บภาษีอากร และอื่นๆ กล่าวคือ

ด้านการปกครอง ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและธรรมเนียมการปกครองที่ใช้มาแต่เดิมเป็นเวลากว่าร้อยปี มาเป็นรูปแบบใหม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 อาทิ จากตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง ตำแหน่งอุปฮาดเป็นปลัดเมือง ตำแหน่งราชวงศ์เป็นยกกระบัตรเมือง และตำแหน่งราชบุตรเป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการเมือง ส่วนตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ ตำแหน่งอัครฮาด อัครวงศ์ อัครบุตรเป็นปลัดอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ และพนักงานในอำเภอ เป็นต้น

ด้านการทหาร การจัดตั้งกองทหารในเมืองอุบลราชธานี เริ่มเป็นครั้งแรก พ.ศ.2431 หลังปราบกบฏผีบาป-ผีบุญแล้ว กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์พยายามจะปรับปรุงการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่ติดขัดตรงที่อยู่ในช่วงวิกฤติการ ร.ศ.112 ซึ่งรัฐบาลไทยเพิ่งทำสัญญากับฝรั่งเศส จึงทรงหันมาบำรุงกิจการตำรวจ โดยประกาศใช้ข้อบังคับการเรียกคนเข้ารับราชการเป็นตำรวจ แทนการเกณฑ์ทหาร อันเป็นผลให้กิจการตำรวจก้าวหน้าไปมาก มีการตั้งโรงพักตำรวจภูธรขึ้นที่ทุ่งหนองสะพัง ได้แก่ที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน

ด้านการศึกษา เดิมอุบลราชธานีมีที่สอนหนังสือไทย 2 โรงเรียน คือ อุบลวาสิกสถาน และโรงเรียนนารีนุกูล เมื่อท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เดินทางมาถึงอุบลราชธานี พำนักที่วัดสุปัฏนาราม ดำเนินการสร้างกุฏิและอาคารเรียน เปิดโรงเรียนเมื่อ พ.ศ.2440 โดยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และประทานโต๊ะนักเรียนให้ 60 ชุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงิน 10 ชั่ง โดยตั้งชื่อโรงเรียนว่า "อุบลวิทยาคม"

ต่อมาเมื่อมีการประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมือง พ.ศ.2441 ให้พระสงฆ์ในวัดหัวเมืองต่างๆ จัดสอนหนังสือไทยให้แก่เด็กปละเยาวชนทั่วไป หลังจากนั้นวัดต่างๆ ในอุบลราชธานี ก็จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยอีกเป็นจำนวนมาก โดย พ.ศ.2453 อันเป็นปีสุดท้ายที่ทรงประทับที่เมืองอุบลราชธานี พบว่า อุบลราชธานีมีวัดที่จัดการเรียนการสอนโดยสม่ำเสมอและสมบูรณ์แบบ 99 วัด จากทั้งหมด 949 วัด 

หม่อมเจียงคำ-สรรพสิทธิประสงค์-01.jpg

การจัดหาที่ดินสำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงขอที่ดินจากหม่อมเจียงคำ ซึ่งเป็นชายาชาวอุบลราชธานีคนแรก และญาติผู้ใหญ่ จำนวน 6 แปลง สำหรับปลูกสร้างสถานที่ราชการ โดยในปัจจุบัน ที่ดินดังกล่าวใช้เป็นที่ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ศาลหลักเมือง สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี ทุ่งศรีเมือง โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี  ศาลแขวง ศาลจังหวัดอุบลราชธานี บ้านพักผู้พิพากษา ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า และที่ตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี

การปรับปรุงการศาล พ.ศ.2451 ตั้งศาลยุติธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี มีฐานะเป็นศาลเมืองอุบลราชธานี และศาลมณฑลอีสานอีกด้วย

การปรับปรุงการเก็บส่วย

การพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือ แทนแกงได

การสร้างรัฐ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่ประชาชน เช่น การประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวกาวเป็น มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และกำหนดให้คนที่อยู่ในอุบลราชธานีและเมืองใกล้เคียงว่า เป็นคนไทย เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว พระโอรส พระธิดา ก็ทรงมีพระทัยอันเป็นกุศล บริจาคที่ดิน ทรัพย์สินเงินทองให้โรงพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล และหน่วยงานราชการในจังหวัดอุบลราชธานีอีกเป็นจำนวนมาก

กล่าวโดยสรุป พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ประทับที่เมืองอุบลราชธานี เป็นเวลา 17 ปี ได้ทรงปรับปรุงและพัฒนาเมืองอุลราชธานีแทบทุกด้าน จนอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญหลายๆ ด้านที่ปรากฎในปัจจุบัน จนเป็นศูนย์กลางของเขตอีสานใต้ ล้วนแล้วแต่ได้มีการริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเวลาที่พระองค์ท่าน ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ประทับที่อุบลราชธานีแล้วทั้งสิ้น

พระอนุสาวรีย์-กรมหลวงสรรพสิทธิ-01.jpg

คณะกรรมการมูลนิธิอุบลราชธานีคนดีศรีวนาลัย นำโดย พลโท อรรถ สิงหัษฐิต ประธานมูลนิธิฯ จะได้จัดสร้างอนุสาวรียพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ณ บริเวณข้างศาลหลักเมือง ทุ่งศรีมืองอุบลราชธานี เพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี และคนไทยทุกคน ได้ระลึกนึกถึงคุณูปการของพระองค์ท่านฯ และเป็นการแสดงกตัญญกตเวทีต่อบุพการีชน กำหนดพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันพฤหัสบดี ที่ 6 สิงหาคม 2563 เวลา 13.09 น. โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธาน ขอเชิญชาวอุบลราชธานีร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน